14 ก.ย. การนอนกัดฟัน / ความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกร(TMD)
การนอนกัดฟัน / ความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกร(TMD)
การนอนกัดฟัน
เป็นอาการหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติด้านการบดเคี้ยว หรือมีปัญหาการทำงานของขากรรไกร การนอนกัดฟัน นอกจากจะมี ปัญหากับคนที่นอนข้างๆ หรือเพื่อนร่วมห้องแล้ว การนอนกัดฟัน ยังก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองด้วย ปัญหาดังกล่าวได้แก่ อาการฟันสึก ฟันร้าว ในบางรายมีอาการฟันสึกจนถึงชั้นเนื้อฟัน เห็นเนื้อฟันสีเหลืองเข้ม มีอาการเสียวฟันเวลาที่ดื่มน้ำร้อน หรือ น้ำเย็น อาจทำให้วัสดุอุดฟันแตก
นอกจากนี้อาจมีอาการปวดที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือบริเวณกล้ามเนื้อบดเคี้ยว โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า และพบว่าอาจมีปุ่มกระดูกงอกบางตำแหน่งของขากรรไกร หรือมีกล้ามเนื้อบดเคี้ยวโตกว่าปกติ
สาเหตุ ของการนอนกัดฟัน
สาเหตุของการนอนกัดฟันนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดซึ่งอาจเกิดจาก
1.สภาพของจิตใจ การดำเนินชีวิตประจำวันอาจมีความเครียด เนื่องจากความเร่งรีบในการทำงานก็เป็นสาเหตุที่ให้เรานอนกัดฟันในเวลานอน โดยเราไม่รู้สึกตัวได้
2.การสบฟันผิดปกติ
3.เกิดจากอาหารบางชนิด จากการศึกษายังพบว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางชนิด เป็นต้น) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด
4.กรรมพันธุ์
ทันตแพทย์ช่วยได้อย่างไร
1.แนะนำให้ ออกกำลังกาย ทำสมาธิเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อผ่อนคลายจากความเครียด
2.การจัดฟัน เมื่อพบว่ามีความผิดปกติของการบดเคี้ยว
3.ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้
4.ทำเผือกสบฟัน เพื่อป้องกันฟันสึกและแตกหัก
ความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกร(TMD)
อาการและอาการแสดงของความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกร(TMD) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.ความเจ็บปวด ได้แก่ อาการปวดข้อต่อขากรรไกร อาการปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดศีรษะ เป็นต้น
2.การทำงานที่ผิดปกติ แบ่งได้เป็น
-มีเสียงที่ข้อต่อขากรรไกร เช่น เสียงคลิก เสียงป๊อป เสียงกรอบแกรบ
-อ้าปากได้จำกัด
-อ้าปากค้าง
-อ้าปากได้ไม่ตรง
ข้อปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อท่านมีอาการผิดปกติบริเวณขมับ-ข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Disorders,TMD)
1.ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
- สามารถทานอาหารที่เคี้ยวได้โดยไม่มีอาการเจ็บหรือปวดหรือความไม่สบายของกรามหรือขากรรไกร ตั้งแต่อาหารอ่อนถึงอาหารปกติ แบ่งอาหารออกเป็นคำเล็กๆ ไม่รับประทานอาหารคำโต อาจหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดในช่วงที่มีอาการ เช่น อาหารเหนียว แข็ง กรอบ และอาหารที่ต้องกัดแทะ เช่น ปลาหมึก เนื้อ ก้านผัก ฝรั่ง มะม่วงดิบ มะเขือเปาะ ถั่ว ข้อไก่ กระดูกอ่อน หมากฝรั่ง
- พยายามเคี้ยวอาหารโดยสลับกันเคี้ยวทั้งสองข้างเพื่อกล้ามเนื้อบดเคี้ยวทำงานสมดุลกัน
2.ประคบอุ่นอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจนอาการทุเลา
การประคบน้ำอุ่น โดยใช่ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นที่ค่อนข้างร้อนบิดหมาดๆหรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหุ้มเจลร้อน (hot/cold pack) ที่ทำให้ร้อนแล้วหรือกระเป๋า/ขวดบรรจุน้ำร้อนประคบขากรรไกรทั้งสองข้างประมาณ 20 นาที วันละ 2-4 ครั้ง แล้วตามด้วยการนวด/คลึงเบาๆ บริเวณกล้ามเนื้อดังกล่าวและถ้าอ้าปากจำกัดด้วยอาจใช้นิ้วมือช่วยยืดเพิ่มระยะอ้าปากด้วย
3.ฝึกคลายกล้ามเนื้อกราม/ขากรรไกรในระหว่างวัน
พยายามสังเกตตนเองว่าขณะไม่เคี้ยวอาหาร ฟันบน/ล่างแตะหรือสัมผัสกันหรือไม่ หรือสังเกตพบว่าตนเองมีการกัดหรือเน้นฟันหรือไม่ โดยปกติเมื่อขากรรไกรอยู่ในท่าพักปากสนิทฟันบนและล่างไม่ควรกระทบกัน พยายามฝึกผ่อนขากรรไกรให้อยู่ในท่าสบาย (lip together, teeth apart)
4.หลีกเหลี่ยงคาเฟอีน
คาเฟอีนอาจมีผลให้กล้ามเนื้อเกร็งตึง ควรลดหรืองดการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และช็อคโกแลต หรืออาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน
5.ระวังไม่อ้าปากกว้าง เป็นเวลานานๆ
หลีกเลี่ยงการหาว รับประทานอาหารคำโตๆ ตะโกน อ้าปากกว้าง ร้องเพลง และการทำฟันที่ต้องอ้าปากกว้างๆ เป็นเวลานานๆหากจะหาวให้เอามือค้ำไว้ใต้คางอย่าให้หาวอ้าปากกว้าง
6.ทรงทำที่ดี
ฝึกทรงท่าให้ศีรษะ คอ หลัง และไหล่ไม่เกร็งตัวโดยเฉพาะในขณะนั่งทำงาน หรือใช่คอมพิวเตอร์ฝึกยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ และหลัง
7.สร้างเสริมการนอนหลับ
พยายามนอนหลับให้เพียงพอเลี่ยงการนอนคว่ำหรือท่าอื่นๆที่จะทำให้ขากรรไกรและคอเกร็งตึง
8.ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายทั่วตัว
9.ฝึกการผ่อนคลายจิตใจ ลดความตึงเครียด การทำงานที่หักโหมจนเกินไป หาเวลาพักผ่อน
Credit: คลินิกวิทยาระบบบดเคี้ยว ศูนย์ความเจ็บปวดใบหน้า-ช่องปากและทันตเวชศาสตร์การนอนหลับ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอขอบคุณ VDO จาก ThaiPBS คณะทันตแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
Sorry, the comment form is closed at this time.