การครอบฟัน

การครอบฟัน

การครอบฟัน

การครอบฟัน คือการบูรณะฟันประเภทหนึ่ง ใช้ในกรณีที่ฟันได้รับความเสียหาย หรือว่าสูญเสียเนื้อฟันไปเยอะ ครอบฟันคือการทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมตามปกติ

ทำไมต้องครอบฟัน อุดฟันธรรมดาได้หรือไม่


ถ้าลองเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพ การอุดฟัน คือการกรอฟันที่ผุออกแล้วนำวัสดุอุดใส่แทนที่เนื้อฟันที่ถูกกรอออกไป เหมือนกับการเอาของที่ไปใส่ในกล่องที่มีฝาเปิด กล่องจะมีผนัง 5 ด้าน ถ้าฟันที่ต้องบูรณะเสียเนื้อฟันไปมาก ผนังกล่องเหลือน้อยด้านก็จะอุดไม่อยู่หรืออุดแล้วหลุดง่าย เนื้อฟันที่เหลือน้อยก็มีโอกาสแตกหักได้ง่ายเมื่อใช้บดเคี้ยว

เราควรจะต้องทำครอบฟันเมื่อไหร่


การทำครอบฟันแบ่งเป็น 3 กรณี กรณีที่ 1 คือ ฟันที่ได้รับการรักษารากฟัน ฟันก่อนที่จะได้รับการรักษาราก เนื้อฟันจะสูญเสียไปเยอะและขั้นตอนในการรักษารากฟัน เราจะต้องกรอเนื้อฟันเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นเนื้อฟันจะหายไป เป็นปริมาณมากกว่าครึ่ง ดังนั้นเราควรที่จะได้รับการทำครอบฟัน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ในกรณีที่ 2 ครอบฟันจะทำในกรณีที่ฟันร้าว หรือว่าฟันแตก ในกรณีฟันร้าว เราทำครอบฟันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันร้าวมากขึ้น หรือเกิดการแตกหักสูญเสียไปในอนาคต ส่วนในกรณีที่ฟันแตก เราก็ทำการครอบฟันเพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ส่วนในกรณีที่ 3 ครอบฟันเราจะใช้ในกรณีที่ฟันมีการสึกมาก หรือว่ามีรูผุขนาดใหญ่ ก็เหมือนเดิมก็ทำเพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติเหมือนเดิม

การทำครอบฟันแบ่งได้เป็นกี่ประเภท


การครอบฟันจะแบ่งออกหลักๆมีทั้งหมด 3 ประเภท

         1.ครอบฟันที่ทำด้วยกระเบื้องล้วนหรือเซรามิกล้วน

         2.ครอบฟันที่ทำด้วยโลหะล้วน

         3.ครอบฟันที่ทำด้วยโลหะเคลือบกระเบื้อง

โดยในตัวแรก ครอบฟันที่เป็นเซรามิกล้วนหรือกระเบื้องล้วนตัวนี้ข้อดีก็คือ สามารถทำให้สวยงามได้เหมือนฟันธรรมชาติจริงๆ นิยมใช้ในฟันหน้าแต่ก็จะมีข้อเสียนิดนึงก็คือจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าโลหะ แล้วก็ต้องกรอเนื้อฟันเยอะกว่าโลหะ เพราะฉะนั้นในกรณีที่ฟันเตี้ยหรือว่าฟันที่สึกลึกๆ ก็จะไม่นิยมทำครอบฟันที่ทำด้วยเซรามิก ส่วนกรณีที่สองก็คือครอบฟันที่ทำด้วยโลหะล้วน ข้อเสียเลยก็คือจะไม่ค่อยมีความสวยงามเพราะว่าสีจะเป็นสีโลหะ แต่ก็จะมีข้อดีคือมีความแข็งแรงทนทานกรอเนื้อฟันไม่เยอะมาก ส่วนในกรณีที่สามคือ ครอบฟันที่ทำด้วยโลหะเคลือบกระเบื้อง ตัวนี้ก็จะรวมข้อดี และข้อเสียของทั้งสองตัวแรกมาไว้ด้วยกัน ข้อดีก็คือสีจะทำได้สีเหมือนฟัน แต่ก็จะไม่ได้สวยงามเท่ากับครอบฟันที่ทำด้วยเซรามิกล้วน ข้อดีอีกอย่างก็คือ ไม่ต้องกรอเนื้อฟันมากเท่ากับครอบฟันเซรามิกล้วน แต่ว่าข้อเสียคือเหมือนที่กล่าวไว้มันจะทำได้ไม่สวยงามร้อยเปอร์เซ็นต์ กับอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องกรอเนื้อฟันมากกว่าโลหะล้วน

การทำครอบฟันมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง


ขั้นตอนการรักษาจะแบ่งออกมาประมาณ 2-3 ครั้ง ที่ผู้ป่วยจะต้องมาพบทันตแพทย์ ครั้งแรกก็คือ มาเพื่อได้รับการตรวจประเมินว่าฟันซี่นี้ควรได้รับการครอบฟันหรือเปล่า การตรวจประเมินจะต้องมีการเอกซเรย์ร่วมด้วย แล้วก็ตรวจประเมินว่าเนื้อฟันที่เหลืออยู่เป็นอย่างไร สามารถที่จะทำครอบฟันได้หรือเปล่า เสร็จแล้วก็จะพิมพ์ปากผู้ป่วยครั้งแรกเพื่อส่งทำครอบฟันชั่วคราว แล้วก็มาในครั้งที่สอง เราได้ครอบฟันชั่วคราวมาแล้ว ครั้งนี้เราก็จะมากรอฟันที่ต้องการทำครอบฟันออก เสร็จแล้วพิมพ์ปากอีกครั้งนึงเพื่อส่งทำครอบฟันถาวรแล้วก็ใส่ครอบฟันชั่วคราวให้กับผู้ป่วยไปใช้งาน ส่วนในครั้งที่สาม ก็จะกลับมาเพื่อที่จะเอาครอบฟันชั่วคราวออกแล้วก็ยึดครอบฟันถาวรให้กับผู้ป่วยอีกครั้งหนึ่ง

ระยะเวลาในการนัดแต่ละครั้งจะมีระยะห่างกี่วัน


โดยแต่ละครั้งในการทำครอบฟัน เราจะนัดห่างกันประมาณ 3-5 วัน ขึ้นกับว่างานที่ทำมีความยากง่ายขนาดไหน แต่ในบางกรณี อาจจะต้องรอหลังจากทำครอบฟันชั่วคราวไปแล้วจะมาใส่ตัวจริงอาจจะต้องรอประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าเหงือกของคนไข้เป็นยังไงอักเสบมากน้อยขนาดไหน ต้องรอให้เหงือกหายอักเสบก่อนหรือเปล่า ก็จะมีข้อพิจารณาคร่าวๆอยู่ประมาณนี้

ครอบฟันแบบแกนเซรามิก
ครอบฟันแบบแกนเซรามิก
ครอบฟันแบบแกนโลหะ
ครอบฟันแบบแกนโลหะ

หากมีปัญหาเรื่องการครอบฟันเราจะทราบได้อย่างไรว่าต้องทำครอบฟันแบบไหน


ส่วนว่าเราจะทำตัวไหนดี อันนี้ก็ขึ้นอยู้กับการพิจารณาของทันตแพทย์เป็นส่วนประกอบหลักเพราะว่าอย่างในกรณี ถ้าสมมติคนไข้ทำฟันหลัง ฟันเตี้ยมากแต่ว่าคนไข้อยากจะทำเป็นเซรามิกล้วนก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือว่าในกรณีที่คนไข้ต้องการทำฟันหน้า ต้องการความสวยงามร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเซรามิกล้วนก็จะทำได้ดีกว่า แต่ข้อเสียคือจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแบบโลหะผสมกระเบื้องเคลือบอยู่หลายพันบาทเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็คือขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ข้อแรกคือ เนื้อฟันของคนไข้ ข้อที่สองคือ ตำแหน่งของฟันในช่องปาก ข้อที่สามก็คือ ค่าใช้จ่าย

อายุการใช้งานหลังจากทำครอบฟันไปแล้วสามารถใช้งานได้นานแค่ไหน


อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของคนไข้ ถ้าสมมติว่าคนไข้สามารถดูแลรักษาได้ดี แปรงฟันได้ทุกครั้งหลังมื้ออาหาร ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ อายุการใช้งานก็สามารถใช้งานได้เหมือนกับฟันปกติทั่วไป เราต้องคิดไว้เสมอว่า ฟันที่ได้รับการครอบฟันมันก็ยังสามารถที่จะผุหรือเป็นโรคเหงือกขึ้นมาได้ในอนาคต ถ้าสมมติเราดูแลรักษาได้ไม่ดีเพราะฉะนั้นโดยสรุป อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของคนไข้ ถ้าคนไข้ดูแลรักษาได้ดีแปรงฟันได้ทุกครั้งหลังมื้ออาหารใช้ไหมขัดฟันได้เป็นประจำและถูกต้อง และมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน อายุการใช้งานก็จะเหมือนฟันปกติทั่วไป

การครอบฟันตอนที่ 1

การครอบฟันตอนที่ 2

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.